ข้อมูลมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ตั้งอยู่บนโคกเขาสระหงส์ 4 ลูกที่อยู่ติดกันในละแวกตำบลนาฝาย อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ มีทัศนียภาพที่รายรอบด้วยขุนเขายาวเหยียดอยู่รอบด้าน สภาพพื้นที่เป็นเนินสูง ส่วนอากาศนั้นมีลมโชยสัมผัสได้ทุกหนทุกแห่ง มีต้นไม้ใบหญ้าอยู่เต็มไปหมด ด้านหลังมหาวิทยาลัยยังมีป่าโปร่ง ประกอบด้วยต้นไม้ใหญ่ยืนห่างเป็นระยะๆ พื้นที่ส่วนหนึ่ง ของด้านหลังจัดไว้เป็นสนามกอล์ฟ 9 หลุม เพื่อฝึกทักษะการกีฬาแก่นักศึกษา และให้บริการแก่บุคคลทั่วไป มหาวิทยาลัยได้ตัดแต่งผืนดินและป่าสร้างเป็นทางเดินและถนนอย่างเป็นระเบียบ พร้อมกับสร้างอาคารเป็นจุดๆ ตามผังที่วางไว้ ที่ดินผืนดังกล่าวนี้ มีเนื้อที่ 1,439 ไร่ ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่สภาตำบลนาฝายมอบให้ และที่ต้องจารึกไว้ก็คือนอกจากเนื้อที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ยังมีชาวบ้านตำบลนาฝายและห้วยชันที่มีจิตใจเสียสละและเห็นแก่การศึกษา ของชาวจังหวัดชัยภูมิ ได้ร่วมบริจาคสมทบอีก 42 ไร่เศษ ทำให้มหาวิทยาลัยมีเนื้อที่รวม 1,482 ไร่เศษ

สำหรับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนั้น เริ่มเป็นโครงการจัดตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2540 จำนวน 15 ล้านบาท สำนักงานโครงการจัดตั้งครั้งแรก อาศัยอยู่กับวิทยาลัยพลศึกษาชัยภูมิไปพลางก่อน ต่อมาเมื่อได้เริ่มสร้างมหาวิทยาลัยเป็นรูปร่างแล้วจึงได้ย้ายมาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2541 นอกจากนั้นยังมีผู้ช่วยเหลืออื่น ๆ อีก อาทิ สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพลบริจาคเงินให้ 1 ล้านบาท มูลนิธิการศึกษาภูเขียวบริจาคเงิน 5 แสนบาท และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 55 ได้ช่วยก่อสร้างถนนลูกรังยาว 12 กิโลเมตรเศษต่อมาปี พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2542 โครงการจัดตั้งได้รับงบประมาณอีก 3 ล้านบาท และ 2.4 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2542 ได้งบประมาณก่อสร้างอาคารจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา   10 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2543 ได้งบประมาณ 2.4 ล้านบาท จนปี พ.ศ. 2544 จึงได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน 6 ชั้นเป็นเงิน 72 ล้านบาท ในที่สุดจึงมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็น “สถาบันราชภัฏชัยภูมิ” เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏทั่วประเทศได้รับการยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ จึงได้พัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยไปด้วย

ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เป็นตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9        แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานอนุญาตให้มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2538 ลักษณะ ของตราสัญลักษณ์เป็นรูปกลมรีตั้งลายกลางเป็นรูปมหาอุณาโลมอยู่ภายในวงจักรรอบวงรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ  มีวงรีล้อมรอบบรรจุอักษรข้อความ “มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ” ด้านล่างของตรามีอักษรข้อความ “CHAIYAPHUM RAJABHAT UNIVERSITY” และระบายสีในพระราชลัญจกร 5 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สีเขียว สีทอง สีส้ม และสีขาว มีความหมายดังต่อไปนี้
สีน้ำเงิน แทนค่า สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ทรงให้กำเนิดและพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”
สีเขียว  แทนค่า แหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
สีทอง   แทนค่า ความเจริญรุ่งเรืองทางปัญญา
สีส้ม     แทนค่า ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ก้าวไกลในมหาวิทยาลัยราชภัฏ
สีขาว   แทนค่า ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ธงประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

ธงประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 90 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร  มี 2 แถบสีเท่าๆ กัน โดยให้แถบสีเหลืองอยู่ด้านบน และแถบสีฟ้าอ่อนอยู่ด้านล่าง ตรงกลางมีตราประจำมหาวิทยาลัยอยู่ทั้งสองด้าน

สีประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

สีประจำมหาวิทยาลัย คือ  สีเหลืองและสีฟ้าอ่อน

สีเหลือง     แสดงถึง  ความสุข สว่างกว้างไกลความสดใสร่าเริงความมีคุณธรรม และความเป็นผู้นำ
สีฟ้าอ่อน  แสดงถึง  ความสดชื่นสบายใจ ความสดใสเบิกบาน และความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นประดู่กิ่งอ่อน ที่ออกดอกชูช่อบานสะพรั่งพร้อมกับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนบัณฑิตที่มีคุณภาพ และคุณธรรม พร้อมออกไปรับใช้สังคม

ปรัชญา : พัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานแห่งปัญญา
วิสัยทัศน์ : ราชภัฏชัยภูมิ ความรู้เพื่อทุกคน (CPRU Knowledge for all)
อัตลักษณ์บัณฑิต : ความรู้ดี มีคุณธรรม นําสังคม

พันธกิจ ยุทธศาสตร์บันได 4 ขั้น สู่ความยั่งยืน ( 4 Step Strategies to Sustainability) 
1. ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปฏิรูปเพื่อการพัฒนาองค์กร (Reform & Re-positioning) 
2. วิจัยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างความร่วมมือมุ่งเป้า (Focuses Engagement)  
3. ให้บริการวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริเพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 3  สร้างชื่อเสียง สร้างศรัทธา สร้างรายได้ (Celebrated & Revenue Development)
4. อนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม สืบสานและสร้างคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 4   ครอบครัวราชภัฏชัยภูมิเปี่ยมสุข  มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน (Quality of Life &Sustainability)
5. เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรในสาขาวิชาชีพอื่นๆ
6. บริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล